ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
logo
สถานที่ตั้ง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการ “รักฟ้า รักษ์ป่า ปลูกกล้า ยุววนกร” ภายใต้โครงการกองทัพอากาศช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง “น่านฟ้าโมเดล 2020”

SDG ด้านที่ 17 ข้อคำถามที่ 17.2.1

     มหาวิทยาลัยของท่านมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงหรือร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศหรือไม่ เช่น การให้ข้อมูลปัญหา อุปสรรคและความท้าทายในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ การคาดการณ์ผลการดำเนินงานกรณีที่มีและไม่มีนโยบายการติดตามและการรายงานผลการดำเนินการตามนโยบาย และสนับสนุนแผนการรับมือ

     คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความร่วมมือกับกองทัพอากาศในโครงการกองทัพอากาศช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง “น่านฟ้าโมเดล 2020” ในภารกิจด้านความมั่นคงของมนุษย์ ในพื้นที่ลุ่มน้ำแหง ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน จากการลงพื้นที่ เพื่อทราบสถานการณ์ปัญหา พบว่า พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เกิดความแห้งแล้ง พื้นดินไม่อุ้มน้ำ แหล่งน้ำทางการเกษตรมีสภาพตื้นเขินไม่มีน้ำ และคุณภาพน้ำที่ย่ำแย่ มีสารพิษเจอปน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟู แก้ไขปัญหาสภาพป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

     คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นถึงถึงความสำคัญในการจัดโครงการเพื่อฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน จึงได้จัดโครงการ“รักฟ้า รักษ์ป่า ปลูกกล้า ยุววนกร” เพื่ออบรมปลูกฝังความรู้และการอนุรักษ์ป่าไม้ให้แก่เยาวชนวัยเรียน รวมถึงการส่งเสริม ฟื้นฟู สุขภาพอนามัยแก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ประสบปัญหาขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม และ 9 กันยายน 2563 โดยมีตัวแทนเยาวชนวัยเรียนจาก 4 โรงเรียนและผู้สูงอายุ ในพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน อาจารย์ นิสิต และบุคลาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วม

วัตถุประสงค์ของโครงการ 

  1. เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้นจากรายได้ที่เพียงพอ มีระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สุขภาพ ฯลฯ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกิดความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กำหนดมาตรการและวิธีดำเนินการอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาการครอบครองที่ดินทำกิน และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่และร่วมมือกันอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ ให้มีความยั่งยืน ต่อไป
  2. สร้างความร่วมมือระหว่างราษฎรในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในการร่วมกันปกป้องดูแลรักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่โครงการ

การดำเนินการ 

     1. แนวความคิดในการดำเนินการ : กองทัพอากาศจะนำอากาศยาน เทคโนโลยี และบุคลากร เข้าร่วมดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาป่าต้นน้ำแบบบูรณการอย่างยั่งยืน นำไปสู่พลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนในพื้นที่ในการปกป้องคุ้มครองผืนป่า

และทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนต่อไป โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำฯ “น่านฟ้าโมเดล ๒๐๒๐” จะมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมใน ๓ มิติ ได้แก่ ด้านป่าไม้ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ และด้านการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต

  1. จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับราษฎรสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ได้แก่ ข้อมูลประชากร อาชีพ รายได้ กลุ่มหมู่บ้านเป้าหมาย ที่ตั้ง อาณาเขต จัดทำแนวเขต (Zoning) สำหรับพื้นที่อยู่อาศัย/พื้นที่ทำกิน และพื้นที่สำหรับการอนุรักษ์ระบบนิเวศต้นน้ำให้เหมาะสมการจัดการป่าไม้โดยรวม ตลอดจนสภาพความต้องการ สภาพปัญหาของชุมชน เพื่อประชุมประชาคมหมู่บ้านให้เกิดการมีส่วนร่วม อีกทั้งสามารถพัฒนาเป็นการรวมตัวสร้างกฎกติกาในการอนุรักษ์รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร ในส่วนการรับรู้รายละเอียด     ของโครงการเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการและการปฏิบัติงานในพื้นที่

    3. โดยมีการจัดกิจกรรมในวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2563 จัดอบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนเยาวชนจาก 4 โรงเรียนในพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ณ ห้องสมุดกองทัพอากาศ และวันพุธที่ 9 กันยายน 2563 จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน และกิจกรรมการแสดงละครใบ้ “รักฟ้า รักษ์ป่า ปลูกกล้า ยุววนกร” โดยตัวแทนเยาวชนจาก 4 โรงเรียนในพื้นที่ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน       

ผลลัพธ์ 

       คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดโครงการ “รักฟ้า รักษ์ป่า ปลูกกล้า     ยุววนกร” โดยอยู่ภายใต้ภายใต้โครงการกองทัพอากาศช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง “น่านฟ้าโมเดล 2020” โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความคิดเห็นต่อการจัดงาน เป็นรายข้อตามลำดับ ดังนี้ ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ท่านมีความรู้เกี่ยวกับ ป่าไม้ สัตว์ป่าในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.59 หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมท่านอยากชวนคนรอบข้างมาร่วมกันอนุรักษ์ป่าในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.38 ความสามารถในการถ่ายทอดเนื้อหาของพี่ ๆ ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.25 และหลังเข้าร่วมกิจกรรม ท่านได้รับความรู้เกี่ยวกับ ป่าไม้ สัตว์ป่าในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.98