ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
logo
สถานที่ตั้ง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 ของสถานบริการสาธารณสุขผู้ป่วยเฉพาะกิจ กรณีศึกษาโรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์

SDG ด้านที่ 12 ข้อคำถามที่ 12.2.2

     Does your university as a body have a policy on waste disposal - Covering hazardous materials? : มหาวิทยาลัยของท่านมีนโยบายการกำจัดของเสีย-ครอบคลุมถึงวัตถุอันตรายหรือไม่

     เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และทำให้ปริมาณของขยะมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจากแหล่งกำเนิดที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและความช่วยเหลือของภาคประชาชน เช่น โรงพยาบาลสนาม สถานบริการสาธารณสุขผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ศูนย์ฉีดวัคซีน (Vaccine Pop-Up) การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยขยะมูลฝอยติดเชื้อที่พบมากในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) และแผ่นป้องกันใบหน้า (Face Shield)  นอกจากนี้ในกรณีของสถานที่กักตัว หากผู้ป่วยได้สั่งอาหารเดลิเวอรีมารับประทาน กล่องบรรจุอาหารและภาชนะที่ใช้แล้ว รวมทั้งกระดาษชำระ มีแนวโน้มได้รับการปนเปื้อนเชื้อและกลายเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งขยะเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค    

วัตถุประสงค์ของโครงการ 

     โครงการนี้ ต้องการศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 เช่น หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) เป็นต้น ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงประชาชน หากได้รับการจัดการที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เชื้อมีการแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 ดังนั้นประชาชนควรได้มีส่วนรู้เห็น เพื่อให้ทราบถึงการทำงานของภาครัฐในการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 จึงนำไปสู่ความสนใจถึงการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 ที่ในโครงการนี้ได้ทำให้เห็นการจัดการของภาครัฐรวมถึงการเสนอแนะถึงแนวทางการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

การดำเนินการ 

     การศึกษาปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อ COVID-19 ในพื้นที่สถานบริการสาธารณสุขผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) กรณีศึกษาโรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ 59 ถนน มิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 ซึ่งเป็นสถานบริการสาธารณสุขผู้ป่วยเฉพาะกิจ ที่ให้บริการพักรักษาเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อให้ผู้จัดทำตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบของการทิ้งขยะติดเชื้อ COVID-19 อย่างไม่ถูกวิธี โดยมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และการจัดการของภาครัฐในการจำกัดขยะติดเชื้อ COVID-19 ให้ถูกต้องตามหลักกรมควบคุมโรค โดยมีผู้บริหารโรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ จำนวน 1 ท่าน เจ้าหน้าที่เก็บขยะติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 1 ท่าน ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษา ณ โรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ จำนวน 3 ท่าน และเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสิ่งแวดล้อมบริษัทกรุงเทพ ธนาคม จำกัด ในการตอบแบบสอบถามเพื่อให้ได้ผลการสำรวจที่ครอบคลุมในพื้นที่ โดยมีระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ระหว่างวันที่ วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 – 26 มีนาคม พ.ศ. 2565

  1. สัมภาษณ์ตัวบุคคลจากแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งใช้วิธีสัมภาษณ์โดยการลงพื้นที่ ณ สถานบริการสาธารณสุขผู้ป่วยเฉพาะกิจ โรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ (The COVID-19 Waste Management in Princeton Bangkok Hospitel) โดยสัมภาษณ์ ผู้จัดการทั่วไป หัวหน้าแม่บ้าน และแม่บ้านของสถานที่ดังกล่าว
  2. สัมภาษณ์ตัวบุคคลจากแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งใช้วิธีการสัมภาษณ์ออนไลน์ โดยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสิ่งแวดล้อม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
  3. สัมภาษณ์ตัวบุคคลจากแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งใช้วิธีการสัมภาษณ์ออนไลน์ โดยสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษา ณ โรงแรม ปริ๊นซ์ตัน กรุงเทพฯ จำนวน 3 คน

ผลลัพธ์ 

       ปัญหามูลฝอยติดเชื้อจากโรคระบาด COVID-19 เป็นปัญหาโลกาภิวัฒน์ทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั่วประเทศและมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก  ดังนั้นในการศึกษาโครงการ การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 ของสถานบริการสาธารณสุขผู้ป่วยเฉพาะกิจ กรณีศึกษาโรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ (The Problem of COVID-19 Waste Management in Princeton Bangkok Hospitel) พบว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เข้าสู่ภาวะวิกฤต มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและเกินความสามารถของโรงพยาบาลที่จะรองรับผู้ป่วย รัฐบาลจึงออกมาตราการบริหารจัดการเตียง โดยการดึงผู้ประกอบการโรงแรมให้ปรับเป็น Hospitel หรือ หอผู้ป่วยติดโรค COVID-19 เฉพาะกิจ ทางคณะผู้บริหาร โรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ ลงความเห็นว่า ทางโรงแรม ปริ้นซ์ตัน กรุงเทพ มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือภาครัฐ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว 

        ในการจัดการกับขยะติดเชื้อ COVID-19 ของสถานบริการสาธารณสุข ผู้ป่วยเฉพาะกิจดังกล่าว พบว่า   สถานบริการสาธารณสุข ผู้ป่วยเฉพาะกิจนี้ มีการจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 ถูกต้องตามกรมควบคุมโรคและเป็นไปตามแนวทางของภาครัฐหรือแนวทางการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร (BMA) สำหรับ สถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด (Quarantine) และหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) เมื่อจัดเก็บเสร็จแล้วจะนำถุงขยะทั้งหมดมารวมกันที่บริเวณโซนพื้นที่สีแดง กล่าวคือ เป็นบริเวณชั้นที่มีผู้ป่วย COVID-19 อาศัยอยู่ เพื่อรอบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มารับขยะติดเชื้อ COVID-19 ไปกำจัดต่อไป  ซึ่งวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ COVID-19 ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดได้รับไปกำจัดต่อไป

      ผลการประเมินโครงการ พบว่าขยะติดเชื้อ COVID-19 เป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จำเป็นต้องกำจัดการให้ถูกวิธี ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญเพื่อการจัดการกับขยะที่ติดเชื้อ COVID-19 โดยในส่วนของภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการจัดการกับขยะติดเชื้อ COVID-19 เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อCOVID-19 กับประชาชน อันจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีและการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข พร้อมตั้งรับกับภัยคุกคามของโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก เช่น ในอดีตผู้คนสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย สามารถค้าขายได้อย่างราบรื่น เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ไม่มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่ในปัจจุบันโรคระบาดดังกล่าวกลับสร้างความหวาดระแวงในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีผู้ใดผู้หนึ่งติดเชื้อแล้วมักมีโอกาสเสียชีวิต ดังนั้นภาครัฐต้องมีความรับผิดชอบต่อพลเมือง โดยการจัดการกับขยะติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญจะต้องไม่สูญเสียชีวิตทรัพยากรมนุษย์จากโรคระบาดดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบสูงขึ้น และเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อCOVID-19 เป็นวงกว้าง