SDG ด้านที่ 11 ข้อคำถามที่ 11.2.6
หน่วยงานของท่านจัดให้มีโครงการเพื่อบันทึกและ/หรือรักษามรดกทางวัฒนธรรม เช่น คติชนท้องถิ่น ประเพณี ภาษาและความรู้ หรือไม่
คณะสังคมศาสตร์ มีการดำเนินการจัดโครงการศึกษาดูงานเพื่อให้นิสิตได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารและพัฒนาสังคมกับหน่วยงานภายนอก เปิดโอกาสให้นิสิตได้รับความรู้กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาที่มีความหลากหลายและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นิสิตได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงเนื้อหาวิชากับการทำงาน เมื่อวันที่ 3 – 6 พฤศจิกายน 2565 โดยคณะศึกษาดูงานประกอบด้วย อาจารย์และนิสิตสาขาพัฒนาสังคม ภาคพิเศษและภาคปกติ ชั้นปี 2 จำนวน 17 คน เป็นนิสิต 12 คน อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาสังคม 5 คน เป็นการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ลาวเวียง ลาวครั่ง ไทยพื้นถิ่น อำเภออู่ทอง
วัตถุประสงค์ของโครงการ / กิจกรรม
เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้และประสบการณ์การด้านการบริหารและการพัฒนาในส่วนของชุมชน สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
คณะสังคมศาสตร์ ได้จัดโครงการศึกษาดูงานนอกสถานที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้แก่นิสิต เพื่อให้นิสิตได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ และการประยุกต์ความรู้จากรายวิชาที่เรียน พื้นที่ศึกษาดูงานกับหัวข้อที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำรายงานโครงการศึกษาดูงาน เรื่อง การพัฒนาชุมชน สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ลาวเวียง ลาวครั่ง ไทยพื้นถิ่น อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้นิสิตได้ศึกษาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมและวิถีการดำรงชีวิต ในอำเภออู่ทองมีกลุ่มชาติพันธุ์หลักๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน จำนวน 5 กลุ่มได้แก่ ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ลาวเวียง ลาวครั่ง ไทยพื้นถิ่น และไทยจีน ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มในเรื่องการแต่งกาย การทอผ้า การทำอาหารแตกต่างกันไป จึงทำให้เกิดความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการอนุรักษ์และสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อำเภออู่ทองให้สืบทอดต่อ
การศึกษาดูงานแบบมีส่วนร่วมของนิสิต โดยการให้นิสิตได้มีโอกาสพูดคุย และร่วมทำกิจกรรมกับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ลาวเวียง ลาวครั่ง เช่น การทอผ้า การแต่งกาย การทำอาหาร และได้ร่วมรับประทานอาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านได้เตรียมไว้ต้อนรับ
ผลลัพธ์ / ผลที่ได้จากการดำเนินงาน
นิสิตได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาพื้นถิ่นจากชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อำเภออู่ทอง ทำให้เกิดความเข้าใจในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คงอยู่ต่อไป