การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
SDG ด้านที่ 11 ข้อคำถามที่ 11.2.6
หน่วยงานของท่านจัดให้มีโครงการเพื่อบันทึกและ/หรือรักษามรดกทางวัฒนธรรม เช่น คติชนท้องถิ่น ประเพณี ภาษา และความรู้ หรือไม่?
คณะสังคมศาสตร์ มีการดำเนินการวิจัย เพื่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2563 – 30 กันยายน พ.ศ.2564 โครงการวิจัยนี้มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วม ประกอบด้วย
- กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 30 คน
- สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 5 คน
- ผู้นำหมู่บ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 5 คน
- ตัวแทนหมู่บ้านละ 2 คน ทั้ง 5 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 10 คน
- ปราชญ์ชุมชน 5 คน
โดยทั้ง 55 คน เป็นกลุ่มเป้าหมายและผู้ได้ประโยชน์จากการดำเนินโครงการวิจัย เนื่องจากได้รื้อฟื้นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ขาดการบันทึกให้ได้รับการบันทึก และร่วมรักษา รวมถึงพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นในรูปแบบของการพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์บนฐานทุนทางวัฒนธรรม โดยมีหน่วยงานภาคีเข้าร่วม ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และภาคประชาสังคมผู้ขับเคลื่อนงานพัฒนาของจังหวัดอ่างทอง
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- ศึกษาทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
- สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากฐานทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
- สังเคราะห์แบบจำลองการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากฐานทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ในพื้นที่ตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
การดำเนินการ
- ขั้นตอนที่ 1 เก็บข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลตลาดใหม่ ด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกกับผู้นำหมู่บ้าน ในประเด็นของจุดแข็งและอัตลักษณ์ของพื้นที่ และผู้สูงอายุที่สามารถให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ของชุมชน ทั้ง 5 หมู่บ้าน
- ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์ SWOT ของทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ จากนั้นนำไปสนทนาเพื่อแสดงข้อค้นพบกับนายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและเจ้าหน้าที่ด้านพัฒนาชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งนำข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ชุมชนเพื่อทวนความถูกต้องของข้อมูล นอกจากนี้ยังสนทนาเกี่ยวกับการจัดการทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ โดยองค์กรภาครัฐ
- ขั้นตอนที่ 3 เตรียมความพร้อมด้านข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการจัดประชุมชุมชน ครั้งที่ 1 ด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มปราชญ์ที่องค์การบริหารส่วนตำบลคัดเลือกในเบื้องต้น เพื่อให้ได้ทิศทางความต้องการของปราชญ์
- ขั้นตอนที่ 4 การจัดประชุมชุมชน ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมกันคัดสรรและคัดเลือกทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา มีจำนวนผู้เข้าร่วม 55 คน ประกอบด้วย ผู้นำหมู่บ้านละ 1 คน 5 หมู่บ้าน ตัวแทนหมู่บ้าน หมู่ละ 2 คน 5 หมู่บ้าน ผู้สูงอายุ 30 คน (ต้องร่วมอยู่ในโรงเรียนผู้สูงอายุ) ปราชญ์ 5 คน ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบล 5 คน และทีมวิจัย 3 คน หลังจากจัดประชุมชุมชน ครั้งที่ 1 ชุมชนได้คัดเลือกปราชญ์แต่ละด้าน เพื่อแบ่งกลุ่มการสนทนากลุ่ม จำนวน 6 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน (ดำเนินการได้ครบทั้ง 6 กลุ่ม แต่เมื่อสัมภาษณ์เจาะลึกปราชญ์รายบุคคล ด้านแพทย์แผนไทยไม่สามารถดำเนินการได้จึงใช้สมุดจดบันทึกทดแทนข้อมูลที่ขาด)
- ขั้นตอนที่ 5 การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนนี้ ดำเนินการส่วนใหญ่ร่วมกับผู้สูงอายุที่มีความสนใจร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ระหว่างขั้นตอนของกระบวนการนี้จะมีพื้นที่หลักเพื่อสื่อสารความก้าวหน้าเป็นระยะคือ โรงเรียนผู้สูงอายุและองค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากในกระบวนการนี้จำเป็นต้องขอความคิดเห็นจากชุมชน เช่น การออกแบบฉลาก ตลาดที่ต้องการ ความต้องการในผลิตภัณฑ์ที่ทีมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้ทดลอง เป็นต้น ขั้นตอนนี้สมาชิกกลุ่มและทีมวิจัยตกลงกันว่า ควรมีการจดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้านขนมไทย เพราะในพื้นที่ยังไม่มีการจดทะเบียน
- ขั้นตอนที่ 6 การประชุมชุมชน ครั้งที่ 2 ผู้เข้าร่วมเป็นชุดเดียวกับการประชุมชุมชน ครั้งที่ 1 (เนื่องจากเป็นสมาชิกโรงเรียนผู้สูงอายุ) เพื่อสรุปบทเรียนและคืนข้อมูลชุมชน ในเวทีนี้ยังเปิดโอกาสให้เสนอความต้องการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมความต้องการจากชุมชน เพื่อสรุปผลการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายและผลการดำเนินงาน
- ขั้นตอนที่ 7 สรุปและสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อพัฒนาแบบจำลองการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผู้สูงอายุ จากนั้นจัดทำรายงานผลการศึกษาเพื่อเผยแพร่
ผลลัพธ์
- มีการจัดเก็บข้อมูลด้านทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทองในรูปแบบของรายงานวิจัยอย่างเป็นระบบ
- ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนมเครื่องทอง ด้วยชื่อกลุ่ม วิสาหกิจกลุ่มขนมไทยบ้านตลาดใหม่ รหัสทะเบียน 1-15-06-15/1-0021 วันที่ 16 เมษายน 2564 และเกิดผลิตภัณฑ์ขนมฝอยเงิน ซึ่งได้จากกระบวนทดลองในขณะทำขนมเครื่องทอง เพื่อลดของเสียจากวัตถุดิบเกิดแบบจำลองว่าด้วย การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ในพื้นที่ตำบลตลาดใหม่ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
- โครงการวิจัยนี้ สามารถปรับปรุงแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงทดสอบแนวทางการพัฒนา การแก้ไขปัญหาใหม่ในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จนได้รับการยอมรับและชุมชนมีความต้องการขยายผลจากงานวิจัย (สังเกตได้จากการจดทะเบียนวิสาหกิจ เป็นความต้องการของกลุ่มภายในชุมชน) เพื่อใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ตำบลตลาดใหม่ในอนาคต เนื่องจากพื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ได้รับงบประมาณก่อสร้างสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ของชุมชน (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) โดยโครงการวิจัยฉบับนี้สามารถผลิตผลผลิตที่จะใช้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้สูงอายุและคนในชุมชนในอนาคต ระดับความสำเร็จ SRL 7