SDG ด้านที่ 2. ข้อคำถามที่ 2.5.2
มหาวิทยาลัยของท่านมีการจัดกิจกรรมหรือช่องทางการสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ในกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่นและผู้ผลิตอาหารหรือไม่
สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มีการดำเนินการจัดโครงการศึกษาดูงานเพื่อให้นิสิตได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารและพัฒนาสังคมกับหน่วยงานภายนอก เปิดโอกาสให้นิสิตได้รับความรู้กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาที่มีความหลากหลายและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นิสิตได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงเนื้อหาวิชากับการทำงาน เมื่อวันที่ 3 – 6 พฤศจิกายน 2565 โดยคณะศึกษาดูงานประกอบด้วย อาจารย์และนิสิตสาขาพัฒนาสังคม ภาคพิเศษและภาคปกติ ชั้นปี 2 จำนวน 17 คน เป็นนิสิต 12 คน อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาสังคม 5 คน เป็นการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้)
วัตถุประสงค์ของโครงการ / กิจกรรม
เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้และประสบการณ์การด้านการบริหารและการพัฒนาในส่วนของชุมชน สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
การดำเนินการ
สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ ได้จัดโครงการศึกษาดูงานนอกสถานที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้แก่นิสิต เพื่อให้นิสิตได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ และการประยุกต์ความรู้จากรายวิชาที่เรียน พื้นที่ศึกษาดูงานกับหัวข้อที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำรายงาน
โครงการศึกษาดูงาน เรื่อง การพัฒนาชุมชน สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ และการสาธิตการปลูกข้าวนา การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้ชาวนาและผู้สนใจได้เห็นการเติบโตของข้าวในแต่ระยะ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งแสดงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวนาไทยในอดีต ความผูกพันธ์ระหว่างชีวิตชาวนากับธรรมชาติ ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องการปลูกข้าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป
ผลลัพธ์ / ผลที่ได้จากการดำเนินงาน
นิสิตได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำนา การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี ได้เห็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม โดยทางศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตฯ ได้บรรยายความเป็นมา วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง และนำชมสถานที่ต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตฯ เช่น เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาข้าวไทย เรือนพระแม่โพสพ แสดงถึงความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนานับแต่โบราณที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าลดลงไปตามยุคสมัย เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต ที่จัดแสดงสถานที่อยู่อาศัย อุปกรณ์เครื่องใช้ในอดีตที่เป็นภูมิปัญญาไทยในการออกแบบเครื่องมือทำกิน และแปลงนาสาธิต ที่แสดงพันธุ์ข้าวที่นิยมเพาะปลูกในปัจจุบัน สาธิตการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว มีการทำแปลงทดลอง ให้ผู้สนใจได้เห็นถึงการเติบโตของต้นข้าวทุกระยะ เพื่อเป็นความรู้ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และภูมิอากาศ ทางศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตฯ ได้เปิดโอกาสให้นิสิตได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำนาและวิถีชีวิตของชาวนาไทย