ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
logo
สถานที่ตั้ง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการการศึกษาดูงานเทศบาลนครรังสิต

   SDG ด้านที่ 11 ข้อคำถามที่  11.3

   ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม

   เทศบาลนครรังสิต เป็น 1 ใน 30 องค์การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลนครของประเทศไทย สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาองค์การและการให้บริการสาธารณะอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นและการตอบสนองความต้องการของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาจนกระทั่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 รางวัลเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ประจำปี 2563 ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะดีเด่น ประจำปี 2566 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านทางการดำเนินงานโครงการระบบดูแลผู้สูงอายุด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลืออัจฉริยะ และโครงการป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการทำงานขององค์กรภาครัฐบนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปรับปรุงการหรือการแก้ไขปัญหาของเมือง อย่างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย “Thailand 4.0” และหมุดหมายที่ 8 ของแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งวิสัยทัศน์การพัฒนาส่วนราชการ จังหวัด และองค์การมหาชน ให้มีขีดสมรรถนะสูง (High Performance Organization) มุ่งสู่ “การเป็นระบบราชการ 4.0 และบริหารจัดการภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาล”

  ด้วยเหตุนี้ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ จึงจัดโครงการศึกษาดูงานเทศบาลนครรังสิต ในวันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2566 ให้แก่นิสิตสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งลงทะเบียนเรียนรายวิชาการพัฒนาองค์การและการเปลี่ยนแปลง (รหัสวิชา 01458412) ภาคต้น ปีการศึกษา 2566 จำนวน 26 คน เพื่อให้นิสิตที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเชื่อมโยงการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครรังสิต กับกระบวนการพัฒนาองค์การและยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับการพัฒนาเมืองได้อย่างเหมาะสม

วัตถุประสงค์ของโครงการ 

  1. เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการพัฒนาองค์การและการเปลี่ยนแปลงกับโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะดีเด่น ของเทศบาลนครรังสิตได้
  2. เพื่ออธิบายโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะดีเด่น ของเทศบาลนครรังสิตกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการยกระดับการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ
  3. เพื่อระบุข้อดีและข้อจำกัดของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้

การดำเนินการ 

  1. ติดต่อเทศบาลนครรังสิต เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการศึกษาดูงานโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะดีเด่น โดยเน้นที่โครงการระบบดูแลผู้สูงอายุด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลืออัจฉริยะ และโครงการป้ายรถเมล์อัจฉริยะ เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
  2. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาดูงานในรูปแบบโปสเตอร์ด้วยอินโฟกราฟิกส์ภาพนิ่ง (Static Infographics) จำนวน 2 โปสเตอร์ คือ รายละเอียดสถานที่ดูงาน และกำหนดการนัดหมายเดินทาง
  3. ประสานเรื่องการจองรถบัส อาหารกลางวันและอาหารว่าง ของที่ระลึกสำหรับวิทยากร
  4. จัดทำงบประมาณ (ล่วงหน้าก่อนการเดินทาง อย่างน้อย 3 สัปดาห์)
  5. จัดเตรียมแบบประเมินผลโครงการฯ ในรูปแบบ Google Form ประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไปของผู้เข้าร่วมโครงการ (จำนวน 3 ข้อ) 2. ความพึงพอใจในการศึกษาดูงาน (จำนวน 7 ข้อ) และ 3. การประเมินความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน (จำนวน 3 ข้อ)
  6. กิจกรรมวันเดินทาง: (ระหว่างทาง) การบรรยายข้อมูลทั่วไปของสถานที่ดูงาน โดยอาจารย์ประจำวิชา และ (ที่เทศบาลนครรังสิต) การรับฟังการบรรยายในสำนักงานเทศบาลนครรังสิต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
    • ประวัติและความเป็นมาของเทศบาลนครรังสิต วิสัยทัศน์ โครงสร้างองค์การ อัตรากำลัง
    • บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนประชากรในพื้นที่ การประกอบอาชีพ รายได้ สภาพปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ ฯลฯ
    • ผลงานโดดเด่นที่ได้รับโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะดีเด่น ประจำปี 2566 (จำนวน 2 โครงการ): ความเป็นมาและความสำคัญ กระบวนการการดำเนินงาน การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การประเมินผลสำเร็จของโครงการฯ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน

ผลลัพธ์/ผลที่ได้จากการดำเนินงาน 

  1. มีผู้มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 23 คน (ร้อยละ 46 ของจำนวนนิสิตที่ลงทะเบียนทั้งหมด) โดยมีผู้แบบสอบถามกลับมา จำนวน 21 คน (คิดเป็นอัตราตอบกลับ ร้อยละ 91.30 ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ)
  2. (วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ของโครงการฯ) ผู้ตอบแบบสอบถามทุกคน จำนวน 21 คน (ร้อยละ 100) สามารถอธิบายความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานเทศบาลนครรังสิตอย่างเชื่อมโยงกับกระบวนการพัฒนาองค์การ ซึ่งประกอบด้วย 1.กระบวนการวินิฉัย 2. การดำเนินการพัฒนา (การแทรกแซงเพื่อการพัฒนาองค์การ) และ 3. การประเมินผลการพัฒนาองค์การ ได้ แต่ตอบไม่ถูกต้อง ในขั้นตอนที่ 2 จำนวน 2 คน (ร้อยละ 52) และขั้นตอนที่ 3 จำนวน 5 คน (ร้อยละ 23.81) ตามลำดับ
  3. (วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ของโครงการฯ) ผู้ตอบแบบสอบถามทุกคน (ร้อยละ 100) สามารถอธิบายโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครรังสิตกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการยกระดับการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยจำแนกเป็น
    • โครงการป้ายรถเมล์อัจฉริยะ เชื่อมโยงกับการประยุกต์ใช้ ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก(Global Positioning System: GPS) 2. แบบจำลองเมืองอัจฉริยะ (Digital City) และ        3. เครือข่ายสารสนเทศ 5G
    • โครงการระบบดูแลผู้สูงอายุด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินอัจฉริยะ เชื่อมโยงกับการประยุกต์ใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) 2. GPS และ 3.ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับพฤติกรรม
  4. (วัตถุประสงค์ข้อที่ 3 ของโครงการฯ) ผู้ตอบแบบสอบถามทุกคน (ร้อยละ 100) สามารถอธิบายถึงข้อดี-ข้อจำกัดของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้ ประกอบด้วย ข้อดี คือ                      ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในขณะที่ข้อจำกัด คือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ปัญหาด้านสุขภาพ การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือข่าวปลอม การเกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ และความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี